เคยสงสัยไหมว่าทำไมอาหารเช้าถึงขึ้นชื่อว่าเป็น “มื้อสำคัญที่สุดของวัน” หลายคนอาจมองข้ามมื้อเช้าเพราะเร่งรีบหรือไม่สะดวก แต่รู้หรือไม่ว่า การไม่กินข้าวเช้าอาจเสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อมได้ ! และการละเลยมื้อเช้าไม่เพียงแค่ทำให้พลังงานแก่ร่างกายไม่เพียงพอ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสมองในระยะยาวอีกด้วย เพราะฉะนั้น มาดูกันว่าการ ไม่กินข้าวเช้าเสี่ยงสมองเสื่อม จริงหรือไม่ ?

สมองเสื่อมน่ากลัวอย่างไร ?
สมองเสื่อมเป็นโรคที่ใกล้ตัว ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นวัยทำงาน หรือวัยรุ่น โรคสมองเสื่อมไม่ควรมองข้าม เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก ทั้งในเรื่องของความจำ การตัดสินใจ และการทำงานของสมองในด้านต่าง ๆ

ทำไมต้องตระหนักถึง โรคสมองเสื่อม ?
การรักษาอาการสมองเสื่อมทำได้ยากและซับซ้อน เนื่องจากยังไม่มีวิธีการรักษาที่สามารถฟื้นฟูสมองให้กลับมาเป็นปกติได้อย่างสมบูรณ์ การรักษาส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การชะลอการเสื่อมของสมองและการจัดการกับอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก ทั้งจากผู้ป่วยเองและผู้ดูแล
อาการของโรคสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อม เป็นกลุ่มของอาการที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของสมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการคิด ความจำ และการทำกิจวัตรประจำวัน อาการของโรคสมองเสื่อมสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทและมีผลกระทบที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

ความจำเสื่อมหลงลืมสิ่งต่าง ๆ
ลืมเหตุการณ์ล่าสุด : ผู้ป่วยอาจลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือข้อมูลที่เพิ่งได้รับ
ลืมชื่อคนใกล้ชิด : อาจจำชื่อคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทไม่ได้
ความสามารถในการคิดและตัดสินใจลดลง
การวางแผนและการแก้ปัญหา : มีปัญหาในการวางแผนหรือแก้ปัญหาที่เคยทำได้ง่าย
การตัดสินใจ : ตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องที่เคยทำได้ดี เช่น การใช้เงิน
การสื่อสารและการใช้ภาษา
ลืมคำศัพท์ : อาจลืมคำศัพท์ที่ใช้บ่อยหรือใช้คำผิด
การสนทนา : มีปัญหาในการติดตามการสนทนาหรือการพูดคุย
หลงทางจำทางไม่ได้
หลงทาง : อาจหลงทางในที่ที่คุ้นเคย
การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและบุคลิกภาพ
อารมณ์แปรปรวน : อาจมีอารมณ์แปรปรวนหรือหงุดหงิดง่าย
การเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพ : อาจมีการเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพ เช่น กลายเป็นคนเก็บตัวหรือก้าวร้าว
บทความ ไม่กินข้าวเช้าเสี่ยงสมองเสื่อม จริงหรือ ? การละเลยมื้อเช้าไม่เพียงแค่ทำให้พลังงานแก่ร่างกายไม่เพียงพอ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสมองในระยะยาวอีกด้วย
อาการสมองเสื่อมมีผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร ?
การทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน
การทำงาน : ผู้ป่วยอาจไม่สามารถทำงานที่เคยทำได้ดี
การทำกิจวัตรประจำวัน : มีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การจัดยา การจัดการด้านการเงิน การขับรถ การทำอาหาร การแต่งตัว การดูแลความสะอาดร่างกาย
ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ครอบครัวและเพื่อน : ความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนอาจเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการสื่อสารและการเข้าใจที่ลดลง
การดูแล : ผู้ป่วยอาจต้องการการดูแล และความเข้าใจจากคนรอบข้างมากขึ้น
สุขภาพจิตและอารมณ์
ความเครียดและความวิตกกังวล : ผู้ป่วยอาจรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการของตนเอง
ภาวะซึมเศร้า : อาจมีภาวะซึมเศร้าหรือความรู้สึกสิ้นหวัง
ความปลอดภัย
อุบัติเหตุ : มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ เช่น การหกล้ม การหลงทาง หรืออาจจะสูญหายจากบ้าน
โรคสมองเสื่อม เกิดจากสาเหตุใด ?
โรคสมองเสื่อมเป็นปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนและมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น มาดูกันว่าแต่ละสาเหตุมีอะไรบ้าง

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) สาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งพบได้ถึง 60-70% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด โรคอัลไซเมอร์ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยทำให้เกิดการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง ทำให้เซลล์สมองเสื่อมสภาพและตายไปในที่สุด
โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคสมองเสื่อม เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์สมองขาดออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็น ส่งผลให้เซลล์สมองเกิดเสียหายและตายตามมา
สาเหตุอื่น ๆ สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมพบได้ ประมาณ 10% ของผู้ป่วย ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น
การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป : การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไปมีผลระยะยาวต่อสมอง
โรคประจำตัว : โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมอง หากไม่ได้รับการรักษาในช่วงวัยกลางคน จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมในวัยสูงอายุ
พันธุกรรม : ก็เป็นอีกปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ หากมียีนที่มีความเสี่ยง จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อม
การใช้สมอง บริหารสมอง : คนที่มีการศึกษาสูงมีโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมน้อยกว่าคนที่มีการศึกษาต่ำกว่า เนื่องจากการใช้สมองอย่างต่อเนื่องช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของสมอง
การไม่กินอาหารเช้าทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม จริงหรือ ?
การไม่กินอาหารเช้าอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ผลกระทบที่ตามมาอาจใหญ่กว่าที่คิด มีการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นที่ติดตามคนจำนวนมากในโอซาก้า พบว่าการไม่กินข้าวเช้าเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ซึ่งทั้งสามโรคนี้มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมองเสื่อมอย่างชัดเจน
อ้างอิงจากการศึกษา การศึกษานี้ยังพบว่าคนที่ ไม่กินข้าวเช้าเสี่ยงสมองเสื่อม เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ ส่งผลให้สมองขาดพลังงานที่จำเป็นในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การไม่กินอาหารเช้ายังทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่สำคัญ เช่น วิตามิน และแร่ธาตุ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างและปกป้องสมอง
การกินอาหารเช้าสำคัญอย่างไร ?
การกินอาหารเช้าที่มีประโยชน์จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม อาหารเช้าที่ดีควรประกอบด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ข้าวโอ๊ต โยเกิร์ต ผลไม้ และถั่วต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ร่างกายมีพลังงานในการเริ่มต้นวันใหม่ แต่ยังช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมในระยะยาว
เราจะป้องกันการเกิด โรคสมองเสื่อม ได้อย่างไรบ้าง
การป้องกันโรคสมองเสื่อมไม่ใช่เรื่องยาก หากรู้จักดูแลสุขภาพสมอง มาดูกันว่ามีวิธีใดบ้างที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อม
กินอาหารเช้าที่มีประโยชน์ การกินอาหารเช้าที่มีประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญ อาหารเช้าที่ดีควรประกอบด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันที่ดีต่อสุขภาพ
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง ทำให้สมองได้รับออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็น การออกกำลังกายความหนักระดับกลางอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เช่น การเดินเร็ว วิ่ง หรือปั่นจักรยาน จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อม
พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับที่เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูสมองและร่างกาย ควรนอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน การนอนหลับที่ดีจะช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฝึกสมองอย่างต่อเนื่อง การฝึกสมองด้วยกิจกรรมที่ท้าทาย เช่น การอ่านหนังสือ เล่นเกมปริศนา หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของสมอง
ดูแลสุขภาพจิต การดูแลสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญ ควรหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำสมาธิ โยคะ หรือการพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว การมีสุขภาพจิตที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อม
รักษาโรคประจำตัว หากมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเส้นเลือด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อติดตามรักษาอย่างต่อเนื่อง
การเริ่มดูแลสุขภาพสมองตั้งแต่เริ่มต้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การกินอาหารเช้าที่ดีและมีประโยชน์เป็นหนึ่งในวิธีซึ่งสามารถช่วยป้องกัน และชะลอการเกิดสมองเสื่อมได้ อาหารเช้าที่มีสารอาหารครบถ้วนจะช่วยเสริมสร้างสมอง และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมองในระยะยาว การดูแลสุขภาพสมองไม่ใช่เรื่องยาก หากเราเริ่มต้นด้วยการใส่ใจในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การกินอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่เพียงพอ การทำเช่นนี้จะช่วยให้สมองมีสุขภาพที่ดี และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดชีวิต การเริ่มดูแลตัวเอง ควรตระหนักและเริ่มเลยทันที เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา และการมีสมองที่แข็งแรงจะช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่และมีความสุขในทุก ๆ วัน อย่างไรก็ตามหากพบว่าความจำของท่านหรือคนที่ท่านรักเริ่มแย่ลง อย่าลืมมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถช่วยรักษาหรือชะลอการดำเนินไปของโรคสมองเสื่อมได้
ข้อมูลจาก
อ. นพ.ศรัณย์ ธนพฤฒิวงศ์ สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Share.

Leave A Reply